สรุปหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีย์ — การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491–2500

chalothon chanya
3 min readAug 20, 2021

ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีย์ — การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491–2500

ณัฐพล ใจจริง, 2563

จากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491–2500)” ของผู้เขียน (อ.ณัฐพล) ที่นำเสนอต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งต่อมา อ. ณัฐพลได้ปรับปรุงและเรียบเรียงใหม่ กลายเป็นหนังสือ ขุนศึกฯ ในชุดสยามพากษ์ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ยุโรปเสียหายอย่างหนักจนต้องง่วนกับการฟื้นฟูประเทศของตนเอง ช่องโหว่ตรงนี้ถือโอกาสให้โลกได้รู้จักกับมหาอำนาจใหม่สองขั้วอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต กล่าวคือ ทุนนิยมและเสรีนิยมเป็นของอเมริกา ส่วนคอมมิวนิสม์และการปฏิวัติเป็นของโซเวียต ประธานธิบดีทรูแมนได้กล่าวว่าอเมริกาต้องการสันติภาพและความมั่งคั่งด้วยการป้องกันการปฏิวัติไม่ให้เกิดขึ้นในโลก นั่นถือเป็นสัญญาณอันเป็นรูปธรรมว่าสงครามเย็นได้เริ่มต้นขึ้น

ทั้งยังเป็นประเทศเอกราช อเมริกามองไทยจะมีความสำคัญอย่างมากในการค้าขายกับตน สินค้าอันเป็นที่ต้องการ อาทิเช่น ยาง ดีบุก และข้าว อเมริกาจึงเริ่มต้นช่วยเหลือไทยโดยการเข้าแทรกแซง ‘ความตกลงสมบูรณ์แบบ’ ที่อังกฤษทำต่อไทยในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม (รัฐบาลจอมพล ป. ตัดสินใจประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร ซึ่งอังกฤษเป็นหนึ่งในนั้น) ซึ่งนัยยะการแทรกแซงตรงนี้ก็เป็นไปเพื่ออเมริกาจะขจัดอิทธิพลของอังกฤษที่มีต่อไทยออกไปด้วย

หลังจากการหมดอำนาจของจอมพล ป. การเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แบ่งได้เป็น 2 ขั้ว นั่นคือกลุ่มปรีดี (พนมยงค์) ที่ประกอบด้วยสมาชิกบางส่วนของคณะราษฎร อดีตเสรีไทย สส.จากภาคอีสาน และนักศึกษาธรรมศาสตร์ มีแนวคิดประชาธิปไตยไปทางสังคมนิยม อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มรอยัลลิสต์ ประกอบด้วยพระราชวงศ์ ผู้จงรักภักดี และอดีตเสรีไทย มีแนวคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ในปี พ.ศ. 2489 รอยัลลิสต์เป็นฝ่ายที่ได้จัดตั้งรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลของควงเป็นรอยัลลิสต์ที่มีความคิดเห็นหลากหลายเกินไป ทำให้ควงต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเวลาไม่ถึง 2 เดือน อำนาจจึงย้อนกลับมาเป็นของกลุ่มปรีดี พร้อมการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของ ปรีดี พนมยงค์

แต่แล้วจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญก็มาถึง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำเนื่องจากถูกยิงจากพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ไม่นานหลังการสวรรคต รัฐบาลปรีดีได้ให้คณะแพทย์และตำรวจเข้าชันสูตรพลิกศพ แต่กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งสนิทสนมกับราชสกุลมหิดลได้สั่งห้ามไว้ รัฐบาลปรีดีจึงได้แจ้งต่อสาธารณะชนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวรรคตจากอุบัติเหตุ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของคดีความ ทำให้กลุ่มรอยัลลิสต์ปล่อยข่าวลือเพื่อโจมตีรัฐบาลว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯถูกลอบปลงพระชนม์ ข่าวลือดังกล่าวทำให้เกิดกระแสต่อต้านปรีดีอย่างรุนแรง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชน ข้าราชการ ทหาร ที่มีต่อรัฐบาลตกลงอย่างมาก จนปรีดีต้องลาออก อันนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2490 โดยกลุ่มรอยัลลิสต์และกลุ่มทหารของจอมพล ป.

แต่การเมืองก็คือการเมือง เสือสองตัวไม่เคยอยู่ถ้ำเดียวกันได้ ทัังกลุ่มรอยัลลิสต์และกลุ่มจอมพล ป. อยากจะได้อำนาจเป็นเอกเทศของตัวเอง กลุ่มรอยัลลิสต์ที่นำโดยควง อภัยวงศ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล จากนั้นรัฐบาลรอยัลลิสต์นี้ได้ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 (ชั่วคราว)ซึ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยม ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 นี้ยังกีดกันอำนาจของกลุ่มจอมพล ป. ว่าห้ามข้าราชการประจำเป็น สว. สส. รวมทั้งรัฐมนตรี ทำให้จอมพล ป. กับพรรคพวกในขณะนั้นที่มีฐานะเป็นข้าราชการทหารไม่สามารถมีส่วนร่วมได้

ส่วนปรีดี พนมยงค์นั้นได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น และปรีดีขอให้อเมริกาสนับสนุนกลุ่มของตนให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง แต่สหรัฐมีท่าทีเมินเฉย เพราะช่วงที่ปรีดีเป็นรัฐบาลนั้น ปรีดีมีแนวคิดที่ขัดแย้งต่ออเมริกา คือไปทางสังคมนิยมและสนับสนุนกลุ่มชาตินิยมเพื่อปลดแอกจากตะวันตก เช่น โฮจิมินห์ พอถึงคราวที่ปรีดีเพลี่ยงพล้ำ อเมริกาจึงมีท่าทีไปทางรอยัลลิสต์มากกว่า

ในเวลาต่อมากลุ่มทหารจอมพล ป. ได้ยื่นคำขาดให้ควง อภัยวงศ์ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มรอยัลลิสต์ไม่พอใจ โดยเฉพาะกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯที่รับรองรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 อย่างแข็งขัน จอมพล ป. ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์นี้บรรดาต่างประเทศได้ให้การรับรองจอมพล ป. อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลประโยชน์ลงตัว โดยเฉพาะอเมริกาที่มีท่าทีเปลี่ยนไป เนื่องจากต้องการมีอิทธิพลในไทย โดยให้รัฐบาลจอมพล ป. ร่วมมือกันต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่กำลังจะชนะในประเทศจีน ซึ่งท่าทีดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับช่วงสงครามโลกที่อเมริกามีส่วนอย่างมากในการต่อต้านจอมพล ป.

กลุ่มจอมพล ป. ได้หันไปขอความร่วมมือกับกลุ่มปรีดี เพื่อที่จะกำจัดอำนาจกลุ่มรอยัลลิสต์ให้หมดไป แต่ปรีดีปฏิเสธและต้องการคืนสู่อำนาจโดยการรัฐประหาร เป็นที่มาของกบฏเสนาธิการ ในปี 2491 และกบฏวังหลวง ในปี 2492 ถือเป็นสัญญาณการสิ้นสุดความสัมพันธ์ของ “ป.-ปรีดี” อย่างเป็นทางการ และเปิดทางให้รัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญอนุรักษ์นิยมอย่างสุดโต่ง โดยการเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ เช่น พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งองคมนตรี และสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดได้อย่างอิสระ โดยมีเพียงประธานองคมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ นี่จึงนับเป็นการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์นับตั้งแต่ 2475 เลยทีเดียว ทั้งยังปรากฏวาทกรรม ‘การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้

รัฐบาลของจอมพล ป. นั้นต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพ เนื่องจากรัฐสภาที่เต็มไปด้วยคนจากกลุ่มรอยัลลิสต์ ถึงตรงนี้ จอมพล ป. มีอำนาจเด็ดขาดแค่กับกองทัพเท่านั้น ทั้งรัฐบาลจอมพล ป. ต้องเผชิญกับการพยายามรัฐประหารอยู่ตลอด ดังนั้นจอมพล ป. จึงต้องแสวงหาความร่วมมือกับอเมริกาในด้านการทหารเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กองทัพเพื่อป้องกันการรัฐประหาร ทางด้านอเมริกาก็ได้สนับสนุนนโยบายของจอมพล ป. เต็มที่ เพราะต้องการเพิ่มฐานอำนาจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของตน โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค เพราะฉะนั้นดีลทั้งสองฝ่ายจึงดำเนินไปด้วยดี

ทางด้านปรีดี พนมยงค์ ได้ลักลอบเข้าไทยและพยายามก่อการรัฐประหารครั้งใหม่โดยร่วมมือกับกลุ่มรอยัลลิสต์และกองทัพเรือ เตียง ศิริขันธ์ เห็นว่าความพยายามรัฐประหารโดยการใช้กำลังของปรีดีจะทำให้สถานการณ์การเมืองแย่ยิ่งกว่าเดิม และควรประณีประนอมกับจอมพล ป. มากกว่า แต่ปรีดีไม่ฟัง ซึ่งนำมาสู่การรัฐประหารที่ล้มเหลว หรือที่เรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน” ในปี 2494 ความล้มเหลวครั้งนี้ปิดโอกาสตัวปรีดีอย่างสิ้นเชิง ส่วนกองทัพเรือถูกลดอำนาจ ริบอาวุธไปให้กองทัพบกและตำรวจ ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ ปรากฏอำนาจของขุนศึกที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในอนาคต ได้แก่ พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัตน์ จากกองทัพบก และ พล.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ จากเหล่าตำรวจ (ยศในตอนนั้นของทั้งสองก่อนจะขึ้นเป็นจอมพลในเวลาต่อมา)

พอกลุ่มปรีดีแตกสลายจากกบฏแมนฮัตตัน ตอนนี้เราจะจัดระเบียบอำนาจได้ว่าเหลือเพียง 2 กลุ่ม นั่นคือกลุ่มรัฐบาล (กลุ่มทหาร) ที่ครอบครองกำลังทหาร นำโดยจอมพล ป. ,สฤษดิ์ และเผ่า อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มรอยัลลิสต์ นำโดยรัฐสภา ผู้สำเร็จราชการ และสถาบันกษัตริย์ มีข้อได้เปรียบตรงที่กุมรัฐธรรมนูญอยู่ในมือไว้ได้ จอมพล ป.ต้องการใช้วิธีแก้ไขความเสียเปรียบตรงนี้โดยการฉีกรัฐธรรมนูญ-ก็คือการรัฐประหารตัวเองนั่นแหล่ะ! ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ไม่ชอบรัฐบาลจอมพล ป. อยู่แล้ว กำลังจะเสด็จนิวัติพระนคร ซึ่งจะยิ่งทำให้กลุ่มรอยัลลิสต์อ้างความชอบธรรมและได้เปรียบในเกมการเมืองเป็นอย่างมาก การรัฐประหารในครั้งนี้ได้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2475 มาใช้ แต่ก็ได้รอมชอมกับสถาบันกษัตริย์ เช่น การให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจในกิจการส่วนพระองค์ เช่น การเลือกองคมนตรี แต่ไม่มีอำนาจในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเหมือนฉบับก่อนหน้านั้นอีกแล้ว

จากการรัฐประหารในครั้งนี้ ทำให้เกิดขั้วอำนาจที่มาจากขุนศึกในคณะรัฐประหารของจอมพล ป. เอง ระหว่างกลุ่มทหารของสฤษดิ์และกลุ่มตำรวจของเผ่า จอมพล ป. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เขาถูกแต่งตั้งเพื่อรอมชอมอำนาจระหว่างสองขุนศึกนี้เท่านั้น เรื่องราวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อกลุ่มสฤษดิ์ตัดสินใจแสวงอำนาจจากการสนับสนุนของกลุ่มรอยัลลิสต์ ส่วนเผ่าแสวงอำนาจจากการสนับสนุนของฝ่ายซ้าย และกลุ่มของปรีดีที่ยังเหลืออยู่ คือกลุ่มเตียง ศิริขันธ์ และ สส. จากภาคอีสาน สำหรับรัฐบาลใหม่นี้ อเมริกาก็เห็นว่าชอบธรรม เนื่องจากจอมพล ป. ตัดสินใจออก พรบ. ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของเขานั้นเป็นการรอมชอมอำนาจระหว่างสองกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งใช้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

สำหรับภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออกนั้น คอมมิวนิสต์กำลังจะได้รับชัยชนะในจีน ฝรั่งเศสแพ้เวียดมินห์ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ตามทฤษฎีโดมิโน หากประเทศรอบข้างเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ประเทศที่เหลือย่อมล้มตามเหมือนโดมิโน และไทยเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่อเมริกาต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้ไทยเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ วิธีการของสหรัฐคือการสนับสนุนไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจและกำลังพล ซีไอเอที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นมีความสนิทสนมกับกลุ่มของเผ่ามากกว่ากลุ่มของสฤษดิ์ ทำให้การสนับสนุนด้านกำลังพลเอนเอียงไปทางฝั่งของเผ่ามากกว่า จนถึงขนาดที่ว่าตำรวจในขณะนั้นมี ‘ตำรวจพลร่ม’ และก่อตั้ง ‘ตำรวจตระเวนชายแดน’ มีบันทึกความเห็นของตำรวจไทยในขณะนั้นว่า “มีความทันสมัยกว่าหน่วยงานอื่นๆ” ทำให้กลุ่มทหารมีความหวาดระแวงการทัดเทียมขึ้นมาของกลุ่มตำรวจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อเมริกายังคงบาลานซ์อำนาจของทั้งสองกลุ่ม และเริ่มดำเนินสงครามจิตวิทยาไปในพื้นที่ชนบทเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์

ประจวบเหมาะกับการที่กลุ่มรอยัลลิสต์และสถาบันกษัตริย์กำลังมองหาช่องทางที่จะทวงคืนอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. สงครามจิตวิทยาของอเมริกานั้นจำเป็นต้องมองหา ‘ศูนย์รวมจิตใจ’ ในการสร้างพลังเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ อเมริกาได้วิเคราะห์ว่าในสำนึกของคนไทยนั้นมีความภาคภูมิใจในเอกราชและจารีตประเพณีของตนอยู่สูง อันการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์คือภาพแทนของสิ่งเหล่านั้นทั้งมวล ดังนั้นอเมริกาจึงเป็นผู้สนับสนุนหลักในการทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเยี่ยมประชาชนในชนบท สิ่งนี้ถือว่าเป็นการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ศักดินาได้ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้เข้าถึงผู้คนมากยิ่งขึ้น ส่วนพญาอินทรีย์ได้โฆษณาชวนเชื่อสมใจอยาก

หากตัดภาพมาที่ขุนศึกผู้มีอำนาจขณะนั้นก็คือเผ่าและสฤษดิ์ ส่วนจอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเพียงในนามเท่านั้น จอมพล ป. มองหนทางของการทวงอำนาจแท้จริงให้ตนเองผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2500 ดังนั้นจอมพล ป. จึงเลือกที่จะถอยห่างอเมริกาและเพิ่มบรรยากาศแบบเสรีนิยมเพื่อให้ประชาชนศรัทธาในตนเอง (อันมาจากกระแสของประชาชนที่เริ่มต่อต้านอเมริกามากยิ่งขึ้น) อันเป็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร หนังสือพิมพ์กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้ตนเองรวมถึงทำลายชื่อเสียงฝ่ายตรงข้าม ทั้งปลายปี 2498 ยังจัดให้มีการไฮด์ปาร์คที่สนามหลวงเพื่อบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย อเมริกาได้วิเคราะห์ถึงท่าทีของจอมพล ป. ในช่วงนี้ว่าไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบที่คุยกันตอนแรก ทั้งยังเปิดการค้ากับจีนคอมมิวนิสต์อย่างไม่แคร์อเมริกา ทำให้อเมริกาไม่พอใจเป็นอย่างมาก การเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนในครั้งนี้มาจากกระแสของเอเชียตะวันออกที่เอนเอียงไปทางคอมมิวนิสต์ ซึ่งจอมพล ป. เริ่มมองว่าวิถีนี้จะเป็นอนาคตของประเทศและตนเอง

กระแสการหวนคืนของปรีดีเริ่มสะพัดแรงขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ต่างเล่นข่าวที่มีมูล โดยความเป็นจริงจอมพล ป. ก็เล่นบทตีสองหน้ามาตลอด เขาให้คำตอบกับอเมริกาว่ายังคงใกล้ชิดและดำเนินการดังที่อเมริกาต้องการทุกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติเขาเริ่มส่งคณะทูตไปประเทศจีนซึ่งเป็นที่พำนักของปรีดีอยู่หลายครั้ง ทั้งด้านนโยบายจอมพล ป. ยังขยับจากการโปรสหรัฐเข้าสู่ความเป็นกลางมากยิ่งขึ้น จอมพล ป. มองว่า การนำปรีดีกลับเข้าสู่ประเทศนั้นเป็นการเดินหมากครั้งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความนิยมให้กับตนเอง เพราะกระแสการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งปี 2500 นั้น กลุ่มรอยัลลิสต์ได้สร้างความชอบธรรมได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภาคอีสาน อันมีสาเหตุสำคัญจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศ

การเลือกตั้งในปี 2500 พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ได้รับชัยชนะ แต่การเลือกตั้งนี้ก็ถือเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก กระแสสังคมพุ่งเป้าโจมตีมาที่จอมพล ป. และเผ่า ศรียานนท์ จนทำให้สถานการณ์ที่เกิดนี้เกินควบคุม จอมพล ป. ตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกซึ่งทำให้ผู้บัญชาการทหารบกมีอำนาจมากที่สุดในสถานการณ์นั้น และเค้าคือสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ขุนศึกผู้ช่วงชิงตำแหน่งทายาททางการเมืองกับเผ่า ศรียานนท์ เขากำลังถอยห่างจากจอมพล ป. และแสวงหาอำนาจกับกลุ่มรอยัลลิสต์ ในการณ์นี้สฤษดิ์กลับยืนเคียงข้างประชาชน โดยสัญญาว่าทหารจะให้การอารักขาประชาชน สฤษดิ์จึงกลายเป็นแกนกลางของการต่อต้านจอมพล ป. ในทันที ทั้งยังได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มรอยัลลิสต์ ฝ่ายซ้ายบางส่วน และประชาชน อเมริกาได้มองสถานการณ์และตัดสินใจว่าหากนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสม์ของตนจะดำเนินได้ต่อไป ก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งผู้เล่นชุดใหม่…

จากกระแสการกลับมาของปรีดี ทำให้สฤษดิ์และกลุ่มรอยัลลิสต์วางแผนรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. สฤษดิ์ถอยห่างและแตกหักกับจอมพล ป. โดยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ก่อนการรัฐประหาร สฤษดิ์ได้สอบถามอเมริกาถึงเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น และไม่ได้รับการห้ามปรามจากอเมริกาแต่อย่างใด ส่วนจอมพล ป. ตัดสินใจพึ่งปราการด่านสุดท้าย คือการเข้าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่ก็ได้รับคำแนะนำว่าตัวจอมพล ป. ควรลาออกจากตำแหน่งเสีย เท่ากับว่าตอนนี้สฤษดิ์มีความความพร้อมและความชอบธรรมในการรัฐประหารทุกอย่าง ทั้งประชาชน สถาบันกษัตริย์ และอเมริกา ในที่สุดการรัฐประหารเป็นไปอย่างง่ายดาย เผ่าเข้ามอบตัวกับคณะรัฐประหารและถูกเนรเทศออกนอกประเทศ เช่นกันกับจอมพล ป. ที่หนีออกทางพม่าและไม่ได้กลับไทยอีกเลย ทำให้โครงสร้างการเมืองในไทยถูกสถาปนาขึ้นใหม่อันเกื้อหนุนไปด้วย ขุนศึก (ทหาร) ศักดินา (สถาบันกษัตริย์) และพญาอินทรีย์ (การแทรกแซงจากอเมริกา) ซึ่งโครงสร้างนี้ก็ยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน

ในเวลาต่อมาอเมริกาก็ได้เข้ามาตั้งฐานทัพในไทยเพื่อทำสงครามเวียดนาม ทั้งไทยยังดำเนินการปราบปรามคอมมิวนิสม์อย่างรุนแรงตามความต้องการของอเมริกา จนทำให้เกิดสงครามภายในประเทศอย่างยาวนาน จะเห็นได้ว่าอเมริกามีส่วนอย่างมากในโครงสร้างทางการเมืองของเรา และเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเราต่างมีต้นตอมาจากโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกสถาปนาในปี 2500 ทั้งหมด (ก่อนที่ภายหลังจะปรากฏตัวละครใหม่อย่าง ‘นายทุน’ ในเวลาต่อมา)

ขุนศึกฯ เป็นหนังสือที่มีสำนวนอ่านง่าย และสนุก ในความสนุกตรงนี้อาจเป็นเพราะเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นมันพลิกไปพลิกมายิ่งกว่าอรรถรสในการดูภาพยนตร์ซะอีก วันนี้เป็นพวกฉัน วันหน้าเป็นพวกเธอ คำว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรสามารถใช้ได้กับการเมืองไทยหลังการเรืองอำนาจของคณะราษฎร (และอาจเป็นทุกยุคสมัย) สิ่งที่ต้องชื่นชมผู้เขียนเลยก็คือการหา ‘อ้างอิง’ จากเอกสารราชการต่างๆทั้งของไทยของเทศ ข้อมูลสัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ และวิทยานิพนธ์อ้างอิง ซึ่งผู้อ่านจะได้ความรู้ไม่มากก็น้อย รวมถึงการรวบรวมมหาศาลแห่งข้อมูลให้เป็นไทม์ไลน์จัดสรรปันส่วนกันอย่างเป็นระเบียบ เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การแนะนำ ในสุดท้ายนี้ขอนำเอาสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนให้ด้วยปากกาหมึกดำมาประดับไว้ดังต่อไปนี้

“ขอพลังปัญญาสถิตย์ที่นักอ่าน”

อีกวันที่อากาศร้อน

20.53 น.

18 สิงหาคม 2564

--

--

chalothon chanya

สวัสดีครับ เป็นบล็อกสำหรับเขียนรีวิวเรื่องต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือว่าเรื่องราวชีวิตที่พบเจอมา ขอบคุณทุกการอ่านและการติดตามครับ