ชวนอ่าน เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน — มาลา คำจันทร์

chalothon chanya
1 min readAug 26, 2020

เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน

มาลา คำจันทร์, 2534, ไทย

เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน เป็นวรรณกรรมของนักเขียนนามปากกา มาลา คำจันทร์ วรรณกรรมเรื่องนี้โดดเด่นจนได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ในปี พ.ศ. 2534 โดยคณะกรรมการซีไรต์ได้กล่าวถึงวรรณกรรมเรื่องนี้ว่าผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องด้วยกลการประพันธ์ที่หลากหลาย การเล่าเรื่องของตัวละครที่ใช้วิธีเล่าผ่านกระแสสำนึกอันสามารถย้อนเล่าเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันสลับกันได้ และการสร้างปมปัญหาที่ค่อยๆทวีขึ้นตามลำดับ จนถึงที่สุดแล้วคลี่คลายอย่างแยบยล อีกประการหนึ่งคือความอลังการของภาษาที่มีกลิ่นอายของล้านนาและอุดมด้วยจินตภาพอันวิจิตร

มาลา คำจันทร์ เป็นนามปากกาของนักเขียนที่ชื่อว่า เจริญ มาลาโรจน์ สำหรับในเรื่องนี้เป็นงานเขียนที่มีรูปแบบการพัฒนาเชิงฉันทลักษณ์จากกลอนแปดมาเป็นโคลง ซึ่งนำสู่การเป็นเจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวนในเวลาต่อมา สำหรับที่มาของวรรณกรรมเรื่องนี้ ตัวนักเขียนได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติเจ้าหญิงแต่ละองค์ของล้านนาที่ต้องจากบ้านเมืองไปอยู่ประเทศอื่นเสมอ ทั้งยังเล่าไว้ในการพิมพ์ครั้งที่ 17 ว่า มีจุดตั้งต้นจากคำถามที่ค้างอยู่ในหัว ผสมผสานตำนานความเชื่อเรื่อง “พระธาตุอินแขวนที่แดนฟ้าหลั่ง” ที่ได้ยินเมื่อครั้งยังเด็กว่าพระธาตุอินทร์แขวน พระอินทร์ลงมาแขวนไว้ที่เมืองน่านสุดแสนห่างไกล เคยได้ยินแต่ก็ไม่เคยไปเห็น เลยจินตนาการเอาเองว่าคงเป็นลักษณะของหินก้อนกลมก้นกิ่ว ขนาดซักวานึงโดยประมาณ ผู้มีบุญเท่านั้นถึงจะปูผมเพื่อลอดก้นที่กิ่วพระธาตุได้ และการเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ยังมีอิทธิพลของวรรณกรรมไทยลื้อ ‘ลังกาสิบหัว’ อีกด้วย

เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน เป็นเรื่องราวของ ‘เจ้าจันท์’ พระธิดาแห่งเมืองเชียงใหม่ ที่ต้องลาจากรักเก่าเชื้อขัตติยะอย่าง ‘เจ้าหล้าอินทะ’ ไปแต่งงานกับ ‘พ่อเลี้ยง’ ปะหล่องต่องสู (คำเชิงเหยียดต่อชาวเขา) เพื่อหาเงินมาปลดปล่อยเชียงใหม่จากสยามตามคำขอของเจ้าพ่อ ก่อนจะแต่งงานเจ้าจันท์จึงขอไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันเกิด เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่เจ้านางอยากจะปูผมลอดพระธาตุเพื่อให้ปาฏิหาริย์ความรักของตนเกิดขึ้น

วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยโศกนาฏกรรมความรักของเจ้าจันท์ที่ต้องพลัดพรากจากคนรักไปอยู่ในมือชายอื่นจากเรื่องราวทางการเมือง ผู้เขียนฉายภาพขนาดกว้างของสังคมเป็นช่วงปลายรัชสมัยของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนที่สยามขึ้นมามีอำนาจเหนือล้านนา หรือปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทั้งยังมีการเกิดใหม่ของนายทุนที่เข้ามามีบทบาทต่อการเมืองในเชียงใหม่ การเปลี่ยนผ่านในส่วนนี้ทำให้เจ้าผู้มีเชื้อสายกษัตริย์ล้านนาหลายพระองค์ต้องยอมค้อมสถานะของตนเองลงมา เพื่อพยุงสถานะนั้นไว้ อันเป็นสถานการณ์ในลักษณะอันกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ที่สุดท้ายคนตกเป็นเหยื่อก็คือเจ้าจันท์ผมหอม

การสร้างตัวละครในเรื่องมีมิติ จับต้องได้ อันเป็นลักษณะของงานดีที่จะไม่มีตกยุคสมัย การกระทำของเจ้าจันท์ล้วนเป็นไปด้วยเหตุผลรองรับ ทุกการอาการรัก อาการโกรธ อาการเกลียด ทุกสิ่งล้วนถูกสร้างขึ้นมาอย่างแยบยลโดยผู้เขียน แม้กระทั่งมิติของตัวละครที่น่าจะกลายเป็นตัวร้ายที่สุดในสถานะ ‘นายทุน’ อย่างพ่อเลี้ยง ผู้เขียนก็สร้างตัวละครของพ่อเลี้ยงอย่างมีเสน่ห์จับต้องได้ รวมไปถึงตัวละครรองต่างๆ เช่น พี่ฟองคำ เจ้าหล้าอินทะ หรือแม้กระทั่งเจ้าพ่อ โดยการเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุดนั้น ตัวละครทุกตัวก็ได้ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และใช้ชีวิตต่อไปในห้วงปัจจุบันขณะ

วิธีการที่ผู้เขียนใช้เล่าเรื่องนั้นคือการให้ตัวละครหลักซึ่งเป็นบุคคลที่หนึ่งพูดโดยใช้กระแสสำนึกของตนในการเชื่อมโยงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่างๆ พอการพรั่งพรูของกระแสสำนึกมาถึง เวลาอดีต เวลาปัจจุบัน และเวลาอนาคตของตัวละครก็พร้อมปรากฏขึ้นตามลำดับโครงสร้างของประเด็นที่ผู้เขียนร่างจิ๊กซอว์ต่อกันไว้ สิ่งที่ตามมาคือการไล่ลำดับทางอารมณ์ของผู้อ่านที่เชื่อมโยงเปรียบการไต่เขาสู่ที่สูงชัน จนไปถึงยอดบนสุดในบทสรุปเหมือนที่เจ้าจันท์ต้องฝ่าฟันอุปสรรคทางกายและใจเพื่อไปให้ถึงพระธาตุอินทร์แขวนบนภูเขา โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งวันเท่านั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของวรรณกรรมคือการที่ผู้เขียนใช้รูปแบบของภาษาที่หลากหลาย อันยืนพื้นเป็นกลิ่นอายภาษาจากทางล้านนา (รวมชาวเขาและพม่า) ทำให้วิธีการขยับของตัวละครเป็นไปอย่างธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงกลวิธีในการประพันธ์ที่มีทั้งบทกวี บทเพลงพื้นเมือง โคลงสี่สุภาพ ภาษาพื้นถิ่น ภาษาโบราณ อันช่วยยังให้ภาษาเกิดความวิจิตรตระการต่อจินตภาพสำหรับผู้อ่าน จะยกตัวอย่างความสวยงามของภาษาดังนี้

“ป่าใหญ่ไม้แน่น เสียงเสือร้องขู่คุกคามอยู่ไกลๆ บัดหนึ่งอยู่ไกล บัดหนึ่งอยู่ใกล้ ดั่งจะป้วนเปี้ยนแปลกปน ปลอมเป็นคนเข้ามาล่อลักแล้วลากเอาคนไปกิน นกก้องก๋อยร้องเสียงดังก้องก๋อย ก้องก๋อย เสียงก๋อยๆหวอยๆ เยือกเย็นพึงขนหัวลุก เมินนานนักแล้ว ชุมแก่ผมขาวชุมเฒ่าหนังเหี่ยวท่านเล่าว่า นกก้องก๋อยร้องคือเสือจะมา” (หน้าที่ 6)

หรือเป็นโคลงสี่สุภาพ

“เสียดายศักดิ์ใหญ่เชื้อ ราชหงส์

หงส์เหินกลับร่อนลง ต่ำคล้อย

หงสาปลดขนปลง หลุดหล่น

กลายเกิดเป็นนกน้อย ต่ำเตี้ยเดียรฉาน” (หน้าที่ 83)

จากตัวอย่างที่ยกมา ทำให้เห็นว่าภาษาที่ผู้เขียนร่ายรำลงเป็นตัวอักษรนั้นให้จินตภาพอย่างอิสรเสรี อันทำให้เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน เป็นงานที่พร้อมด้วยรูปโฉมที่งดงามอย่างยิ่ง

ในบทสรุปของเรื่องผู้เขียนได้แทรกสัจธรรมของชีวิตให้ตัวละครหลักของเรื่องอย่างเจ้าจันท์ได้เรียนรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา และเปลี่ยนแปลงเสมอ แม้เลือดกษัตริย์หรือพระธาตุเจ้าจากสวรรค์ก็หนีความจริงตรงนี้ไม่พ้น ประเด็นกับรูปแบบการใช้ภาษาที่ผู้เขียนสื่อสาร ทำให้วรรณกรรมเจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน ยกตนเองไปสู่ระดับแถวหน้า และควรค่าสำหรับผู้อ่านที่อยากจะสัมผัสรสชาติทางภาษาอันหลากหลาย กรุ่นด้วยกลิ่นของแนวคิดที่กลมกล่อม น่าจดจำ

--

--

chalothon chanya

สวัสดีครับ เป็นบล็อกสำหรับเขียนรีวิวเรื่องต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือว่าเรื่องราวชีวิตที่พบเจอมา ขอบคุณทุกการอ่านและการติดตามครับ