ครูบาศรีวิชัย กับตำนานการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ

chalothon chanya
2 min readAug 31, 2020

พระธาตุดอยสุเทพ

เดิมทีดอยแห่งนี้เป็นดอยของชนเผ่าลัวะ โดยต้นตระกูลของชนเผ่าลัวะนั้นนับถือผี และยังชีพด้วยการกินเนื้อสัตว์รวมถึงเนื้อคน ต่อมาชาวเขาเผ่าลัวะนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ จนในที่สุดก็ทำให้ชาวลัวะรู้จักการรักษาศีล 5 และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยตอนนั้นบนดอยก็มีฤษีที่เคยบวชเรียนในพระพุทธศาสนาอยู่ตนหนึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวลัวะมาก ชื่อ ‘วาสุเทพ’ ดอยนั้นจึงถูกเรียกตามชื่อของท่านว่า ‘ดอยสุเทพ’ มาจนถึงปัจจุบัน

กาลเวลาผ่านไป ดอยสุเทพกลายเป็นพื้นที่ของอาณาจักรล้านนา ในปี พ.ศ. 1913 พระยากือนาเจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่ในตอนนั้น ได้อัญเชิญพระสุมนภิกขุมายังเชียงใหม่ เพื่อจะสถาปนาพุทธศาสนานิกายสวนดอกไม้ ซึ่งพระสุมนภิกขุท่านก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุเดินทางมาที่เชียงใหม่ด้วยเช่นกัน ท่านได้นำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ ณ ยอดดอยสุเทพ โดยการขุดหลุมฝังพระบรมสารีริกธาตุ และก่อเจดีย์ขึ้น เจดีย์นั้นจึงกลายเป็น ‘พระธาตุดอยสุเทพ’ มาจนถึงทุกวันนี้ มีความเชื่อว่าพระธาตุบนยอดดอยนี้ถือเป็นตัวแทนของเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ของพระอินทร์

นับตั้งแต่การประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนั้น จึงกลายเป็นประเพณีที่กษัตริย์ผู้ครองเชียงใหม่ทุกพระองค์จะต้องขึ้นมานมัสการพระธาตุดอยสุเทพ

ครูบาศรีวิชัย

ท่านเป็นพระที่มีบารมีมากจากการเป็นที่นับถือของชาวล้านนา รวมไปถึงชาวเขาและชาวพม่าอีกด้วย เนื่องจากท่านปฏิบัติตัวอย่างสมถะและเคร่งครัด ฉันข้าววันละมื้อ เป็นมังสวิรัติ สั่งสอนหลักธรรมให้ชาวบ้านทุกคนอย่างไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ทั้งยังบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆทั่วล้านนา สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนศรัทธาท่านเป็นอย่างมาก แม้ท่านต้องเจอการอธิกรณ์ถึง 6 ครั้งจากส่วนกลางในข้อหาต่างๆ แต่แล้วข้อกล่าวหาเหล่านั้นก็ทำอะไรท่านไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ท่านมากไปด้วยบารมี และความศรัทธาจากผู้คนมากยิ่งขึ้นไปอีกจนทำให้ท่านมีลูกศิษย์มากมาย ในภายหลังท่านถูกเรียกขานว่า ‘ตนบุญแห่งล้านนา’

การสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ

ความตั้งใจแรกเริ่มคือการติดไฟบนวัดพระธาตุดอยสุเทพเพื่อให้เกิดความสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉยๆ เป็นความคิดของหลวงศรีประกาศ ส.ส. คนแรกของเชียงใหม่ กับเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทั้งสองท่านได้นำความมาปรึกษากับครูบาศรีวิชัย โดยทางครูบาได้แนะนำว่าควรสร้างเส้นทางขึ้นไปบนพระธาตุดอยสุเทพด้วยซะเลย จะได้ครบจบทีเดียว เผื่อญาติโยมที่ต้องการจะจาริกแสวงบุญก็จะได้เดินทางอย่างสะดวก ต้องบอกก่อนว่าในขณะนั้นการเดินทางขึ้นไปบนวัดพระธาตุดอยสุเทพไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีถนนให้ขึ้นไป ต้องปีนป่ายเส้นทางธรรมชาติที่เป็นเขาเป็นหุบเหวลึกอย่างยากลำบากกว่าจะไปถึง กับระยะทาง 11 กิโลเมตรในการขึ้นไป ครูบาศรีวิชัยเลือกวันลงจอบแรกในการสร้างถนนในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 โดยที่ท่านไม่ได้ของบจากรัฐบาลที่กรุงเทพแต่อย่างใด และไม่ได้เชิญพระผู้ใหญ่ในเชียงใหม่มาทำพิธีเอาฤกษ์ ในส่วนนี้อาจารย์เพ็ญสุภา สุขคตะ ได้วิเคราะห์ไว้ว่าที่ไม่ได้ของบสร้างถนนจากกรุงเทพเพราะว่าจะเป็นการดำเนินงานที่ล่าช้า เพราะกรุงเทพยังมองเชียงใหม่เป็นแค่เมืองบ้านนอกเท่านั้น ไม่รู้จะให้งบไปทำไม ส่วนของการที่ไม่ได้เชิญพระผู้ใหญ่มานั้น เป็นเพราะความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระเถระผู้ใหญ่ของเชียงใหม่ที่มีมาตั้งแต่การที่ท่านครูบาศรีวิชัยถูกอธิกรณ์ในอดีต ที่เกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ของพระสงฆ์ โดยครูบาศรีวิชัยท่านก็ได้รับปากไว้ว่าถนนสายนี้จะเสร็จภายใน 6 เดือนแน่นอนแบบไม่ต้องพึ่งเครื่องมือหรือกำลังพลจากรัฐแต่อย่างใด

ข่าวการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพได้กระจายไปทั่วทุกสารทิศ เหล่าศิษยานุศิษย์ของครูบาศรีวิชัยก็เป็นอีกแรงหนึ่งในการกระจายข่าวสาร นำโดยเถ้าแก่โหงว พ่อค้าแห่งเมืองเชียงใหม่ ที่เป็นคนออกทุนในการพิมพ์ใบประกาศเชิญชวนสำหรับการสร้างถนน ในการสร้างถนนวันแรก มีผู้เข้าร่วมในการสร้างเพียง 20 คนเท่านั้น แต่หลังจากนั้นผู้คนก็หลั่งไหลมาช่วยกันสร้างถนนเรื่อยๆ มีทั้งคนไทย ชาวเขา คนพม่า ร่วมมือร่วมใจกันสร้างอย่างไม่แบ่งแยก จนในที่สุดคนก็เยอะมากจนต้องเปิดจองให้ขุดเพียงคนละ 1 วาเท่านั้น เพื่อจะได้ขุดได้อย่างทั่วถึงกัน ผู้ใหญ่ที่ทำงานหรือเรียนหนังสือ ตอนเย็นเสร็จจากหน้าที่ของตนเองก็มาช่วยกันขุดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จนมีการคาดคะเนว่าในแต่ละวันมีคนมาช่วยไม่ต่ำกว่า 5,000 คน

จากเดิมที่ครูบาศรีวิชัยตั้งใจไว้ว่าการสร้างจะไม่เกิน 6 เดือน ในที่สุดการสร้างถนนนี้ใช้เวลาน้อยกว่านั้นด้วย คือ 5 เดือน 22 วัน โดยในวันที่ 30 เมษายน 2478 ก็เป็นวันเปิดการใช้ถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพเป็นครั้งแรก การเดินทางทางรถยนต์จากตีนดอยไปถึงเชิงบันไดพญานาคใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ ถนนสายนั้นถูกเรียกว่า ‘ถนนดอยสุเทพ’ ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็น ‘ถนนศรีวิชัย’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย พระนักพัฒนานั่นเอง

เหตุการณ์หลังจากนั้น, ปัจจุบัน

หลังจากที่ถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพใช้การได้แล้ว ครูบาศรีวิชัยก็เจอปัญหาที่ตามมา โดยท่านถูกอธิกรณ์โดยมหาเถระสมาคมของเชียงใหม่ในข้อหาหลักๆคือ สร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากกรุงเทพ ในการโดนอธิกรณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในบริบททางสังคมช่วงนั้นคือประเทศไทยเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนเสร็จในปี พ.ศ. 2478 ยิ่งทำให้ท่านมากไปด้วยคนที่ศรัทธายิ่งขึ้นไปอีก ทำให้รัฐต้องนำตัวผู้มีอิทธิพลในท้องที่มา ‘ปรับทัศนคติ’ เพื่อคงความมั่นคงของรัฐไว้ มองว่าการถูกอธิกรณ์ในครั้งนี้เป็นเรื่องทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การอธิกรณ์ในครั้งนี้ของท่าน ก็ทำให้ชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพทนไม่ไหว และออกมาชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับครูบาศรีวิชัย สุดท้ายเพื่อลดกระแสความเกรี้ยวกราดของมวลชน ครูบาศรีวิชัยจึงถูกอธิกรณ์มาที่กรุงเทพ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยได้กล่าวไว้ว่า

“…ท่านปรารภกับข้าพเจ้าว่า ที่ถูกมากักเช่นนี้อาจเป็นเพราะผิดประเพณีก็ได้ การทำถนนไม่ใช่กิจของพระ ส่วนการสร้างเจดีย์วิหารอันเกี่ยวกับวัดมากมาย ก็ไม่เคยมีเรื่อง ถ้าได้กลับไป จะไม่เข้าไปในเขตเมืองเชียงใหม่อีกต่อไป จนกว่าน้ำในลำแม่ปิงจะไหลขึ้นเหนือ…”

ถือเป็นคำพูดในเชิงตัดพ้อของท่านถึงคุณประโยชน์ที่ท่านได้สร้างไว้ต่อบ้านเมือง แต่รัฐกลับไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนี้ และนับจากนั้นเป็นต้นมา ท่านก็ไม่เคยมาเหยียบเชียงใหม่อีกเลย จนมรณภาพในปี พ.ศ. 2481

ทุกวันนี้ครูบาศรีวิชัยไม่ได้หายไปไหน ท่านยังคงสถิตอยู่ในใจของศิษยานุศิษย์ของท่านผู้ชื่นชมในความดี ทุกวันนี้พระธาตุดอยสุเทพเป็นสถานที่ที่ทุกคนต้องเช็คอินเมื่อมาเชียงใหม่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ในขณะที่รถของเรากำลังวิ่งขึ้นไปบนพระธาตุดอยสุเทพ ใครเลยจะรู้ว่า ครั้งหนึ่งเส้นทางนี้คืออนุสรณ์แห่งความสามัคคี อนุสรณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน อันมุ่งไปสู่สวรรค์ สู่ “พระธาตุดอยสุเทพ”

อ้างอิงข้อมูล

1. ดอยสุเทพทำไมจึงศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์กลางศาสนาผี-พุทธ และสัญลักษณ์ทางการเมือง, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, https://thestandard.co/doisuthep-spiritual-buddhism-religion-and-political-symbolism/, สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2563

2. การสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย, พระพิชัย ปิยสีโล (อินต๊ะซาว), http://aphidham.mcu.ac.th/userfiles/file/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%97/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2/2562/MCU620202140.pdf, สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2563

3. ประวัติ ครูบาศรีวิชัย, ไม่ปรากฏผู้เขียน, http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-srivichai/kb-srivichai-hist-01.htm, สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2563

4. ปริศนาโบราณคดี : “จอบแรกครูบาศรีวิชัย” วันที่ชาวล้านนาไม่ลืมเลือน จุดเริ่มขบวนประชาชน, เพ็ญสุภา สุขคตะ, https://www.matichonweekly.com/culture/article_146772, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563

5. ครูบาศรีวิชัย : “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” กับความขัดแย้งในคณะสงฆ์, ไม่ปรากฏผู้เขียน, https://www.silpa-mag.com/culture/article_14296, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563

6. พลิกประวัติศาสตร์ ‘อมตะวาจาครูบาศรีวิชัย’ กับการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475, ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว, https://thestandard.co/kruba-sri-wichai-2475/, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563

อ้างอิงรูปภาพ

1. 9 พฤศจิกายน 2477 ครูบาศรีวิชัย “นั่งหนัก” ในการสร้างถนนขึ้น “ดอยสุเทพ” https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_41448, สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563

--

--

chalothon chanya

สวัสดีครับ เป็นบล็อกสำหรับเขียนรีวิวเรื่องต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือว่าเรื่องราวชีวิตที่พบเจอมา ขอบคุณทุกการอ่านและการติดตามครับ