การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี — นิธิ เอียวศรีวงศ์ (1986)

chalothon chanya
1 min readOct 9, 2021

หนังสือ : การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

ผู้เขียน : นิธิ เอียวศรีวงศ์

สำนักพิมพ์ : มติชน

จำนวนหน้า : 615 หน้า

พิพม์ครั้งที่ 14 — สิงหาคม 2562

พระมหากษัตริย์ไทยที่มีสีสันมากที่สุดพระองค์หนึ่ง? คนดีหรือคนเลว? เรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง? คำถามเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นกับผมอันชื่นชอบกรอบการวิเคราะห์แบบรื้อถอนเป็นทุนเดิม แต่สิ่งที่คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยคือ “พื้นที่” ของพระองค์ที่เปิดแง้มให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ได้ทำให้พระองค์เป็นสัญลักษณ์ของความใจกว้างที่ทำให้เราได้ขยับขยายทักษะการวิเคราะห์วิจารณ์อำนาจสูงสุดแห่งการปกครอง

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ในความทรงจำของผมนั้นมีน้อยกว่าพระมหากษัตริย์ที่เป็นมหาราชพระองค์อื่นๆ ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการ “กู้กรุง” ทั้งสองครั้ง ผมก็จะมีความทรงจำเกี่ยวกับวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสียมากกว่า อันอาจมาจากอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์และแบบเรียนในการศีกษาภาคบังคับก็เป็นได้ ในความทรงจำกับพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นพระองค์เป็นบุรุษร่างเล็ก ไว้หนวด ขึ้นชื่อเรื่องความกล้าหาญ แต่จริงมั๊ย? ซึ่งพอฉุกคิดไปนั้น ผมก็แทบไม่เคยจะได้ศึกษาประวัติของพระองค์แบบจริงจังเลย

เป็นที่มาของการได้หาประวัติของพระองค์มาศึกษา โดยงานเขียนขึ้นชื่อแนววิเคราะห์ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ฉบับที่อ่านเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 14 โดยสำนักพิมพ์มติชน แม้ในเล่มจะเน้นไปทางการวิเคราะห์บริบททางการเมืองเพื่อรู้จักตัวบุคคลเสียมากกว่า แต่ก็ไม่ทำให้ผิดหวังแต่อย่างใด กล่าวคือนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาร้อยเรียง แล้ววิเคราะห์ ซึ่งบางเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนก็อาศัยหลักความเป็นเหตุเป็นผลกัน การตัดสินใจที่เชื่อมโยงกับบริบทในยุคสมัยนั้น อาจเป็นเพราะการวิเคราะห์ของ อ.นิธิ ที่น่าเชื่อถือก็เป็นได้ หนังสือเลยมีการตีพิมพ์หลายครั้งและมีความต้องการจากผู้อ่านอยู่เสมอ

ผู้เขียนเสนอว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีมาจากสามัญชน มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ประกอบอาชีพค้าขาย (รับธุรกิจต่อจากพ่อ) ต่อมาก็ “วิ่งเต้น” จนได้เป็นเจ้าเมืองตาก เรียกว่า “พระยาตาก” ตรงกับสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาที่ระบบการปกครองเริ่มสั่นคลอน หัวเมืองต่างๆขาดความเข้มแข็ง อันนำไปสู่การเสียกรุงฯในปี พ.ศ. 2310 พระยาตากได้อพยพกำลังของตนลงมาจากเมืองตาก แต่ในที่สุดก็เห็นว่าอยุธยาจะต้านทานพม่าไม่ไหวทั้งด้านการรบและความอดอยาก จึงได้ตีฝ่าพม่าออกไปทางภาคตะวันออก แล้วประกาศพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์ใหม่ การประกาศในที่นี้มีความน่าสนใจ เพราะแท้จริงแล้วถือเป็นการแสดงความชอบธรรมในการหนีออกจากรุงต่างหาก กองกำลังของพระองค์จะได้ไม่ถือว่าเป็น “กบฏ” เหมือนหัวเมืองอื่นๆที่แยกตัวออกจากอิทธิพลของอยุธยาทั้งหมด และแต่งตั้งอำนาจให้ขึ้นอยู่กับตนเอง เรียกสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ว่า “การเมืองแบบชุมนุม”

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เหล่าขุนนางเก่ามองพระเจ้าตากสินไม่เป็นกษัตริย์ลวงโลก เนื่องจากพระองค์ทรงประกาศวิถีการปกครองที่เน้นการฟื้นฟูธรรมเนียมจารีตประเพณีแบบอยุธยาขึ้นมาใหม่ (ในช่วงเวลาเดียวกัน อุดมการณ์การฟื้นฟูจารีตดั้งเดิมนั้นไม่มีชุมนุมไหนประกาศได้ชัดเจนเท่าชุมนุมพระเจ้าตาก) จึงเรียกการเมืองแบบดั้งเดิมนี้ว่า “การเมืองแบบราชอาณาจักร” ความชัดเจนทางอุดมการณ์นี้เองที่ทำให้พระเจ้าตากได้สมาชิกพรรคพวกที่เป็นขุนนางเก่าเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก ผสมกับความสามารถด้านการรบของพระองค์ ทำให้ในที่สุดจึงไปตั้งตัวที่จันทบุรีเพื่อซ่องสุมกำลังพล และเอาชนะที่โพธิ์สามต้นในที่สุด

ผู้เขียนได้วิเคราะห์ว่าเนื่องจากการเติบโตมาจากสามัญชนนี่เองที่ทำให้การเมืองของพระองค์มีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง แม้พระองค์จะเป็นผู้ขับไล่พม่าออกจากภาคกลาง ทั้งยังรวมแผ่นดินที่แตกเป็นเหล่าให้กลับมาเป็นอาณาจักรอีกครั้ง แต่เนื่องจาก “Connection” ที่ไม่กว้างขวางเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับกลุ่มขุนนางเก่าที่เกาะกินผลประโยชน์กันมาตั้งแต่รุ่นก่อนๆ ทำให้การปกครองของพระองค์เป็นไปในลักษณะ “เน้นอาณาบารมีส่วนตัว” มากกว่า “เน้นอาณาบารมีที่เป็นสถาบัน” นั่นคือพระองค์จะต้องการล้วงลูกทุกอย่าง เป็นคนตัดสินใจเอง แม้กระทั่งในเรื่องศาสนาก็ตาม ส่วนเหล่าแม่ทัพ-ขุนนางที่ไว้ใจกันก็ล้วนเป็นแม่ทัพ-ขุนนางที่พึ่งขึ้นมามีอำนาจ เรื่องบารมีหรือ connection ก็จะไม่แข็งแรงเท่าใหร่นัก

แม้พระองค์จะประกาศว่าการเมืองของพระองค์เป็นการเมืองแบบราชอาณาจักร แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ภายนอก แท้จริงแล้วเนื้อหาการปกครองกลับยังเป็นการเมืองแบบชุมนุมอยู่ ซึ่งอุดมการณ์ดังกล่าวนี้สั่งสมให้เหล่าขุนนางเก่าหรือเรียกได้ว่า “ผู้ดีเก่า” นั้นไม่พอใจ การกระทำที่ขัดกับความเป็นอาณาจักรมีอยู่มากมาย ทั้งการไม่สร้างพระราชวังในกรุงธนบุรี การวางตัวกับประชาชนที่ใกล้ชิดจนเกินไป (ขัดกับจารีตเก่าที่พระมหากษัตริย์ต้องเป็นสมมติเทพ) การเข้าไปยุ่งกับสถาบันศาสนาเกินความจำเป็น และระเบียบแบบแผนอีกหลายสิ่งที่ไม่ได้ปฏิบัติตามประเพณีแบบกรุงเก่า ทำให้หลังศึกอะแซหวุ่นกี้ (พ.ศ. 2318–2319) ถือเป็นจุดเสื่อมถอยทางอำนาจครั้งสำคัญของพระเจ้ากรุงธนบุรี

ในปลายรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีแม่ทัพที่มีผลงานโดดเด่นท่านหนึ่ง คือ พระยาจักรี (ทองด้วง) ได้เป็นศูนย์กลางอำนาจสำคัญของเหล่าผู้ดีเก่าทั้งหลาย ซึ่งกลุ่มของพระยาจักรีนี้ถือเป็นกลุ่มที่ไม่ชอบพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากมีผลงาน และมี connection ที่หลากหลาย จึงทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีทำอะไรไม่ได้ รวมทั้งลูกน้องใกล้ชิดที่เริ่มตาย รวมทั้งหมดความกระตือรือร้นที่จะรับใช้พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทำให้อำนาจของพระเจ้ากรุงธนบุรีอ่อนแอลงอย่างมาก พระองค์เริ่มกลายเป็นคนที่โหดร้าย รวมทั้งคำที่เหล่าขุนนางเก่าใช้ว่า “บ้า” เช่น เหตุการณ์ที่ทรงให้พระสงฆ์ได้กราบไหว้พระองค์เอง ผมเคยได้ยินว่าที่ท่าน “บ้า” นี้เป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยกับสงครามจนรับไม่ไว้ แต่ผู้เขียนได้วิเคราะห์ความ “บ้า” นี้ได้อย่างน่าสนใจและมีความสมเหตุสมผลมากกว่า ว่าความบ้านี้เกิดจากความต้องการกระชับอำนาจให้มาอยู่กับตัวพระองค์ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นพระองค์จึงเลือกใช้วิธีการแบบ “ทำให้ตนเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์” กล่าวคือมีฤทธิ์เหนือกว่าคนทั่วไป เป็นอภิมนุษย์ไปแล้ว คนจะได้เคารพ กราบไหว้บูชา สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นการอ้างความชอบธรรมอย่างดีสำหรับการรัฐประหารพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยพระยาจักรีในปี พ.ศ. 2325

พระเจ้ากรุงธนบุรีถูกประหารชีวิตโดยการตัดพระเศียร เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา สิริรวมครองราชย์ได้ 15 ปี ทางด้านพระยาจักรี (ตอนนี้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และโละจารีตแบบธนบุรีทิ้งเกือบทั้งหมด เรียกได้ว่าเมื่อเข้าสู่ยุคของราชวงศ์จักรีนั้น ระเบียบจารีตแบบอาณาจักรได้ถูกรื้อฟื้นอย่างแท้จริง

หากวิเคราะห์บริบทแล้วก็นับว่าเข้าใจได้ บริบทของการเป็นสามัญชนหรือขุนนางเก่าย่อมกำหนดลักษณะการปกครองให้ออกมาแตกต่างกัน คนนึงมี connection ที่มากกว่า เหนือกว่า เหมาะสมกว่า ก็ย่อมจะเป็นผู้ปกครองที่ให้ผลประโยชน์แก่กลุ่มคนแบบเดียวกันได้มากกว่า แต่หากไม่มีพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้วนั้น ก็ยากที่จะคิดเหมือนกันว่าอาณาจักรจะเป็นแบบไหน อาจเป็นการเมืองกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยแบบในพม่ามาจนถึงปัจจุบันก็ไม่มีใครรู้ได้ แต่นี่แหล่ะคือมนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ มันเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ วิเคราะห์ ขบคิด และทำนาย ผ่านพระราชประวัติที่มีสีสันที่สุดพระองค์หนึ่ง สีสันของพระเจ้ากรุงธนบุรี

--

--

chalothon chanya

สวัสดีครับ เป็นบล็อกสำหรับเขียนรีวิวเรื่องต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือว่าเรื่องราวชีวิตที่พบเจอมา ขอบคุณทุกการอ่านและการติดตามครับ