Munich massacre : สังหารหมู่สะเทือนขวัญมหกรรมโอลิมปิก

chalothon chanya
3 min readAug 25, 2020
รูปภาพผู้ก่อการร้ายในวันเกิดเหตุ

ค.ศ. 1972 ท่ามกลางไอแดดแห่งฤดูร้อน เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตก (ขณะนั้น) เป็นเจ้าภาพเปิดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอย่างยิ่งใหญ่ โอลิมปิกในครั้งนี้เป็นโอกาสของเยอรมันที่จะทำให้โลกได้เห็นว่าประเทศของพวกเขาไม่ได้เป็นประเทศเดียวกันกับประเทศที่มีผู้นำอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) อีกต่อไป ตอนนี้เยอรมันเป็นประเทศที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับทุกคน บางคนบอกว่านี่เป็นงานที่จะพาเยอรมันทะยานไปข้างหน้า บางคนบอกว่างานนี้เป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดของเยอรมันนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มวลบรรยากาศของชาวเยอรมันเต็มไปด้วยประกายความหวังแห่งอนาคต ทั้งการตอบรับการเข้าร่วมแข่งขันก็เป็นไปอย่างคึกคักโดยนักกีฬากว่า 7,000 คน จาก 121 ประเทศ ไม่มีเมืองไหนจะสุขใจเท่ากับมิวนิคในขณะนั้นอีกแล้ว

คนแปลกหน้าตอนตี 4

ในสัปดาห์ที่สองของการแข่งขัน คืนวันที่ 5 กันยายน ช่วงเวลาตี 4 ครึ่ง อาคารบนถนนคอนนอลลี่ 31 (Connollystraße 31) ในหมู่บ้านนักกีฬา เหตุร้ายก็ได้มาเยือน เมื่อห้องพักนักกีฬาถูกงัด ปรากฏผู้ชายสวมโม่งคลุมหน้าจำนวน 8 คน พร้อมด้วยอาวุธเป็นปืนเล็กยาว AK, ปืนพก และระเบิด นักกีฬาบางส่วนหลบซ่อนตัวและหนีไปได้ บางส่วนถูกต้อนให้ไปรวมกัน บางส่วนเลือกที่จะต่อสู้ จนในที่สุดหอพักนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง 2 คน คือ โมเช เวียนเบิร์ก (Moshe Weinberg) โค๊ชมวยปล้ำ กับ โยซเซฟ โรมาโน (Yossef Romano) นักกีฬายกน้ำหนัก ทั้งคู่เป็นคนอิสราเอล

ข่าวของเหตุร้ายขยายออกไปอย่างรวดเร็วจนทางการเยอรมันเข้ามาไกล่เกลี่ย โดยขณะนั้นผู้ก่อการร้าย ซึ่งก็ได้รู้ว่าเป็นคนปาเลสไตน์ได้จับตัวประกันเป็นคนอิสราเอลไว้ 9 คน พวกเขายื่นข้อเสนอกับทางการเยอรมันว่าจะขอแลกตัวประกันกับการเรียกร้องให้ทางการอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 234 คน และ นักโทษชาวเยอรมัน 2 คน (ปัญหาสืบเนื่องจากสงคราม อาหรับ-อิสราเอล ในปี 1948) ทางการเยอรมันยื่นข้อเสนอเป็นเงินหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ได้รับคำตอบว่าดีลนี้ไม่เกี่ยวกับเงินแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องทางการเมืองล้วนๆ นี่จึงเป็นข้อเสนอที่จะไม่มีการต่อรองอะไรทั้งสิ้น ผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ‘Black September’

หอพักนักกีฬาบนถนน Connollystraße 31 ในปัจจุบัน

ความชุลมุนของเหตุการณ์

เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนขวัญแก่นักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งในเช้าวันนั้น (5 กันยายน) ทางโอลิมปิกก็ต้องยุติการแข่งขันหนึ่งวันเต็ม ทางด้านอิสราเอลตัดสินใจปฏิเสธดีลของผู้ก่อการร้าย และจะส่งหน่วยพิเศษมาช่วยทางเยอรมัน โดยเยอรมันก็ปฏิเสธอย่างไม่ใยดี เพราะคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ตัวเองจัดการได้อยู่มืออย่างไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร แต่ความจริงคือทางการเยอรมันไม่ได้มีการฝึกฝนเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ก่อการร้ายเลย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีความชำนาญด้านยุทธวิธี ในขณะเดียวกัน นักข่าวจากทั่วโลกก็ได้ปักหลักถ่ายทอดเหตุการณ์สด จนแผนการจู่โจมอาคารบนถนนที่ 31 ของทางการเยอรมันต้องถูกยกเลิก เพราะผู้ก่อการร้ายรู้ตัวจากการดูทีวีถ่ายทอดสด!

การตรึงกำลังระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างเคร่งเครียด จนถึงเวลา 6 โมงเย็น ผู้ก่อการร้ายได้สื่อสารมาว่าต้องการเครื่องบินไปลงยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ทางฝั่งเยอรมันยอมทำตามข้อตกลง จึงนำเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ มารับผู้ก่อการร้ายเวลา 4 ทุ่ม เพื่อนำไปลงยังสนามบินไรม์ (Riem) ซึ่งที่สนามบินนั่นเองที่ทางการเยอรมันวางแผนชิงตัวประกันอีกครั้ง โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ให้เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินที่จอดรอทำการหาจังหวะเข้าประชิดตัวผู้ก่อการร้ายที่ขึ้นมาเช็คความเรียบร้อยบนเครื่องบิน ส่วนที่ 2 เป็นพลปืนสไนเปอร์ 8 คน ซุ่มอยู่รอบสนามบิน โดยจะหาจังหวะยิงผู้ก่อการร้ายที่รอการเช็คความเรียบร้อยอยู่ข้างล่าง อย่างไรก็ตาม นักแม่นปืนเหล่านั้นไม่ได้มีการฝึกอบรมพิเศษด้านการยิงแต่อย่างใด แถมปืนที่ใช้ยังไม่มีกล้องส่องทางไกลอีกด้วย

การบุกอาคารบนถนนที่ 31 ของเจ้าหน้าที่เยอรมัน เจ้าหน้าที่แต่งตัวเลียนแบบนักกีฬา

โอลิมปิกที่มืดมน

เวลา 4 ทุ่มครึ่ง เฮลิคอปเตอร์ก็ได้ลงจอดที่สนามบินไรม์ โดยก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่จู่โจมที่อยู่บนเครื่องบินก็ตัดสินใจยกเลิกภารกิจเองกะทันหันแล้วหนีไปทิ้งไว้เหลือแต่เครื่องบินที่ว่างเปล่า พอผู้ก่อการร้าย 2 คนเดินขึ้นมาเช็คเครื่องบินก็ไม่พบเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ จึงเข้าใจว่าพวกตนโดนซ้อนแผนแล้ว ทางด้านเจ้าหน้าที่พอเห็นผู้ก่อการร้าย 2 คนนั้นวิ่งกลับไปที่เฮลิคอปเตอร์จึงได้สัญญาณให้ยิงทันที การปะทะกันดำเนินไปอย่างชุลมุน กลุ่มผู้ก่อการร้ายยิงต่อสู้อย่างเดือดดาล พยายามยิงไฟสปอร์ตไลท์ดวงใหญ่เพื่อไม่ให้พวกเจ้าหน้าที่เห็นตนได้ชัดเจน ทางด้านเจ้าหน้าที่สไนเปอร์ก็ไม่มีวิทยุสื่อสารกันในทีม ทำให้การโจมตีผู้ก่อการร้ายบ้างก็เข้าเป้า บ้างก็ยิงไปถูกเจ้าหน้าที่พวกเดียวกันเอง ยังไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยเหลือตัวประกันได้ และแล้วโศกนาฏกรรมก็มาถึง เมื่อหนึ่งในคนร้ายเกิดบ้าเลือดขึ้นมา จึงตัดสินใจยิงตัวประกันที่ถูกมัดอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ลำที่ 1 ตัวประกันทั้ง 5 คนในเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นเสียชีวิตจากการถูกยิงทันที ถัดจากนั้นจึงขว้างระเบิดมือเข้าไปในเฮลิคอปเตอร์ลำที่ 2 ตัวประกันอีก 4 คน ก็เสียชีวิตจากแรงระเบิด เหตุการณ์สิ้นสุดลงเมื่อเวลา 1.30 น. ของวันที่ 6 กันยายน ปรากฏว่าผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 5 คน รอดชีวิต 3 คนเพราะแกล้งนอนตาย

เมื่อเหตุการณ์สงบ ผู้คนทั่วโลกต่างรอคอยข่าวว่าตัวประกันปลอดภัยหรือเปล่า ข่าวระลอกแรกที่ถูกปล่อยออกมาจากทางการเยอรมันได้บอกว่าตัวประกันทั้งหมดปลอดภัยดี แต่คณะกรรมาธิการการของโอลิมปิกก็บอกว่านี่เป็นข่าวที่มองโลกในแง่ดีเกินไป ซึ่งข่าวร้ายก็มาถึงเมื่อ Jim McKay ผู้ประกาศข่าวโอลิมปิกของ ABC ได้รายงานเรื่องจริงว่า ตัวประกัน 2 คนถูกฆ่าที่ห้องพัก ส่วนตัวประกันอีก 9 คน ถูกฆ่าที่สนามบิน ทุกคนเสียชีวิตแล้ว มหกรรมกีฬาเต็มไปด้วยความโศกเศร้า โอลิมปิกตัดสินใจไว้อาลัยนักกีฬาผู้เสียชีวิตโดยการลดธงลงครึ่งเสา แต่ทางชาติอาหรับไม่ลดธงลง เพราะคิดว่าจะเป็นการยอมจำนนให้กับความชั่วร้ายของผู้ก่อการร้าย

สภาพเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ หลังการเสียชีวิตของตัวประกัน

ความพิโรธของพระเจ้า

คณะนักกีฬาทีมชาติอิสราเอลตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันและเดินทางกลับประเทศทันที ทางการเยอรมันสร้างอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตเป็นแผ่นหิน สร้างขึ้นตรงสถานที่เกิดเหตุ อาคารบนถนนที่ 31 ในหมู่บ้านนักกีฬา จากเหตุการณ์นี้ทำให้เยอรมันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในแง่ของการรักษาความปลอดภัยและการเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุร้าย นำมาสู่การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายเป็นครั้งแรกของเยอรมัน ชื่อว่า GSG 9 (Grenzschutzgruppe 9) การสังหารหมู่ครั้งนี้ถือเป็นจุดด่างพร้อยระหว่างเยอรมันกับอิสราเอล

วันที่ 9 กันยายน ทางการอิสราเอลส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดกลุ่มปลดปล่อยปาเลสไตน์ในซีเรียและเลบานอนเพื่อเป็นการโต้ตอบเหตุการณ์ในมิวนิค วันที่ 29 กันยายน เครื่องบินพาณิชย์ Lufthansa 615 ของเยอรมัน ถูกปล้นโดยโจรสลัดอากาศ โดยมีข้อเรียกร้องขอแลกตัวประกันกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ 3 คน ในเหตุการณ์มิวนิค ทางการเยอรมันทำตามข้อเสนออย่างง่ายดาย นักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกปล่อยตัวทันที มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นการเล่นปาหี่ของทางเยอรมัน เพราะการเก็บนักโทษไว้กับตัวเองอาจจะสุ่มเสี่ยงที่นักโทษจะให้ข้อมูลต่อสำนักข่าวถึงความผิดพลาดและไม่มืออาชีพของเยอรมันในเหตุการณ์มิวนิคได้ ต่อมาทางอิสราเอลจัดตั้งทีมปฏิบัติการ ‘ความพิโรธของพระเจ้า’(Operation Wrath of God) เพื่อล่าสังหารผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ 3 คนนั้น รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในแผนการมิวนิค การล่าสังหารดำเนินไปถึง 20 ปี มีผู้ก่อการร้ายเหลือรอดเพียงคนเดียว จามาล อัลกาชี (Jamal Al-Gashey) คือผู้เหลือรอดคนนั้น ภายหลังเขาให้สัมภาษณ์ในภาพยนตร์สารคดี One Day in September (1999) ถึงเหตุการณ์ในมิวนิคว่าเขาไม่ได้รู้สึกผิดกับการกระทำในครั้งนั้นแต่อย่างใด เพราะมันทำให้คนทั่วโลกหันมามองประเทศที่โดนพิษภัยจากการรุกรานของอิสราเอลแต่ไม่เคยมีใครมาสนใจอย่างปาเลสไตน์

จามาล อัลกาชี (คนกลาง) ผู้ก่อการร้ายที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากปฏิบัติการล่าสังหารของทางการอิสราเอล

การระลึกถึงผู้เสียชีวิต

4 ปีต่อมา โอลิมปิกที่แคนาดา ตอนพิธีเปิดงาน นักกีฬาทีมชาติอิสราเอลสวมริบบิ้นสีดำเพื่อแสดงความไว้อาลัยแด่นักกีฬา 11 คน ที่เสียชีวิตในมิวนิค ปี 2012 โอลิมปิกที่ลอนดอน ครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์มิวนิค คณะกรรมาธิการโอลิมปิกไม่อนุญาตให้มีการยืนสงบนิ่งไว้อาลัยโดยให้เหตุผลไว้ว่า “ไม่ควร” (inappropriate) แม้ว่าในงานเดียวกันจะมีการรำลึกถึงเหตุการณ์ระเบิดในลอนดอน ปี 2005 อย่างไรก็ตาม โอลิมปิกปี 2016 ณ ริโอ เดอ จาเนโร คณะกรรมมาธิการฯก็อนุญาตการสร้างอนุสรณ์เพื่อเป็นการรำลึกถึงนักกีฬาในเหตุการณ์มิวนิค

อนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงนักกีฬา 11 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์มิวนิค อนุสรณ์นี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา กรุงริโอ เดอ จาเนโร

เหตุการณ์ในมิวนิคเป็นอีกหนึ่งความเลวร้ายที่ประกอบไปด้วยความสูญเสียและความเจ็บปวด ทั้งที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชิดชูสันติภาพและความเป็นพี่น้องกันระหว่างชนชาติ แม้ความชั่วร้ายจะไม่มีทางหายไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนให้เราไม่มากก็น้อย

รายชื่อนักกีฬาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ‘สังหารหมู่ในมิวนิค’

1. Moshe Weinberg

2. Yossef Romano

3. Ze’ev Friedman

4. David Berger

5. Yakov Springer

6. Eliezer Halfin

7. Yossef Gutfreund

8. Kehat Shorr

9. Mark Slavin

10. Andre Spitzer

11. Amitzur Shapira

อ้างอิงเรื่อง

1.https://www.timesofisrael.com/rio-games-honoring-israels-athletes-massacred-at-1972-olympics/

2.https://edition.cnn.com/2012/07/27/worldsport/gallery/olympics-2012-munich-massacre-israel-1972/index.html

3. https://www.britannica.com/event/Munich-Massacre/German-and-Israeli-responses

4. https://en.wikipedia.org/wiki/Munich_massacre

5. https://mysterycherry12.wordpress.com/2012/02/23/46/

6. http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2006/02/A4080690/A4080690.html

7. ภาพยนตร์สารคดี One Day in September (Kevin Macdonald, 1999, Switzerland / Germany / UK)

อ้างอิงรูปภาพ

1. https://messiahsmandate.org/the-munich-massacre-part-2-more-injustice-and-the-wrath-of-god/

2.https://www.cbc.ca/radio/backstory/inside-the-munich-massacre-byron-macdonald-and-the-1972-olympics-1.3660444

3. https://www.timesofisrael.com/crowds-drank-beer-while-munich-massacre-crisis-unfolded/

4. https://www.flickr.com/photos/ampontour/6214475440

5. http://100photos.time.com/photos/kurt-strumpf-munich-massacre

--

--

chalothon chanya

สวัสดีครับ เป็นบล็อกสำหรับเขียนรีวิวเรื่องต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือว่าเรื่องราวชีวิตที่พบเจอมา ขอบคุณทุกการอ่านและการติดตามครับ