Homodeus : A Brief History of Tomorrow — Yuval Noah Harrari (2015)

chalothon chanya
2 min readMar 19, 2021

Homodeus : A Brief History of Tomorrow

(โฮโมดีอุส : ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้)

Yuval Noah Harrari, 2015, Israel

แปลภาษาไทย : ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์, ธิดา จงนิรามัยสถิต

ผลงานเรื่องที่ 2 จากซีรีส์ A Brief History โดยก่อนหน้านั้นเป็น Sapiens : A History of Humankind (2014) และท้ายสุดเป็น 21 Lessons for the 21st Century (2018) งานเขียนจากศาตราจารย์ชาวอิสราเอล ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ซึ่ง Homodeus นั้นวางจำหน่ายในอังกฤษปี 2016 , สหรัฐอเมริกา ปี 2017 และแปลเป็นภาษาไทย ปี 2019 โดยสำนักพิมพ์ยิปซี ผู้แปลยังคงต่อเนื่องจากเล่มที่แล้วคือ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และคุณธิดา จงนิรามัยสถิต

แฮรารีพาเราทำนายอนาคตโดยการนำเสนออดีตกันอีกครั้งว่ากระแสของโลกเป็นอย่างไรกันบ้าง เมื่อมาถึงจุดหนึ่งมนุษย์อาจเลื่อนขั้นไปสู่การเป็นผู้ควบคุมความตายเสียด้วยซ้ำ ในห้วงเวลาที่ผ่านมามนุษย์ไม่ได้ถือว่าตนเองเป็นผู้สูงสุด เราเป็นเพียงแค่เผ่าพันธุ์ที่สยบยอมต่อศาสนาและคตินิยม คุณค่าของเราคือชีวิตหลังความตาย เพราะฉะนั้นจงทำดี และหมั่นสวดมนต์อ้อนวอนต่อพระเจ้าซะ แต่ในวันนี้ได้เปลี่ยนไป พระเจ้าตายแล้ว! เมื่อ Google เปิดบริษัทลูกที่มีเป้าหมายในการเอาชนะความตายโดยวิทยาศาสตร์ชีวภาพซะอย่างนั้น โอ้ ชักจะเหิมเกริมใหญ่แล้วเจ้าพวกเซเปียนส์

เมื่อมนุษย์ขึ้นครองโลก…คำว่าครองโลกนี้อาจรวมถึงการปฏิเสธความเชื่อโบราณหมดสิ้น นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ความรู้สึกของเราเองก็ไม่ใช่ปรากฎการณ์ทางนามธรรมอีกต่อไป มันเป็น ‘อัลกอริทึม’ เป็นเพียงรหัส เป็นเพียงแผงวงจรที่เชื่อมโยงกันในร่างกายแค่นั้น เมื่อเรามองเห็นสิงโต สัญญาณไฟฟ้าจะเคลื่อนที่ไปยังสมอง จากสมองเคลื่อนที่ไปกระตุ้นเซลล์ในส่วนอื่น หลั่งสารอะดรีนาลีนไปทั่วร่างกาย จากนั้นกล้ามเนื้อขา แล้วพร้อมวิ่งหนี แม้แต่ความทรงจำและจินตนาการของเราก็หนีไม่รอดจากการถูกอธิบาย ทั้งหมดนั่นเป็นแค่การไหลทะลักของสัญญาณไฟฟ้าสู่เซลล์ต่างๆ ก่อนส่งไปสู่การหลั่งอะดรีนาลีนและกล้ามเนื้อเหมือนการหนีสิงโตแค่นั้นเอง ฉับพลันความโรแมนติกในการชอบจินตนาการของผม (ผู้เขียน) ก็ทลายไม่เหลือชิ้นดี

ความจริงมีอยู่ 3 แบบ นั่นคือความจริงแบบวัตถุวิสัย (Objective Realities) ความจริงแบบจิตวิสัย (Subjective Realities) ความจริงแบบวัตถุวิสัยนั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มานานก่อนที่เราจะเกิดเสียอีก เช่น แรงโน้มถ่วง สิ่งของที่ร่วงหล่นสู่พื้นนั้นมีมาอย่างยาวนาน และจะคงมีอีกตลอดไป(?) โดยไม่ได้อิงกับความรู้สึกของตัวเราเองเหมือนกับความจริงแบบจิตวิสัยที่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกเฉพาะตน หากเราปวดหัวแต่หมอกลับไม่พบอะไรที่ผิดปกติ แต่เราก็ยังคงปวดหัวอยู่ นั่นคือความจริงแบบจิตวิสัย เป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่น สุดท้ายคือความจริงแบบจิตวิสัยร่วม (Intersubjective Level Reality) ที่เป็นความรู้สึกที่มีผู้เชื่อถือร่วมกันเป็นจำนวนมาก (ขณะที่จิตวิสัยมันมาจากแค่ความรู้สึกของเราเพียงคนเดียว) แฮรารียกตัวอย่างความจริงในข้อนี้มาอธิบายได้อย่างแหลมคม ตัวอย่างของแฮรารีคือ ‘เงิน’ เงินไม่ใช่ความจริงแบบวัตถุวิสัย (ใช้กินไม่ได้) แต่เป็นความจริงที่มีคนเชื่อร่วมกันทั้งโลกว่านี่คือตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่สามารถใช้แลกมาได้ซึ่งบ้าน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม แล้วความจริงทั้งหมดนี้คืออะไร นี่เป็นการอธิบายถึงโครงข่ายที่ทักทอความหมายให้กับชีวิตมนุษย์นั่นเอง เป็นอีกครั้งที่เราจะลืมไม่ได้กับ ‘ระเบียบแบบแผนตามจินตนาการ’ มนุษย์จำเป็นต้องมีเรื่องเล่าเป็นที่ยึดเหนี่ยว อาจจะดูไร้สาระ แต่นี่คือวิวัฒนาการที่เผ่าพันธุ์อื่นทำไม่ได้ ในยุคกลางเราล้วนเชื่อในการทำสงครามเพื่อจะสถิตบนสวรรค์กับพระเจ้า แต่แล้วก็ถูกปฏิเสธในเวลาต่อมา เมื่อ 60 ปีก่อนมีคนฝันจะสร้างสวรรค์คอมมิวนิสต์ แต่แล้วก็ถูกปฏิเสธในเวลาต่อมา ไม่แปลกเลยหากอีก 30 ปีข้างหน้าจะไม่มีผู้คนเชื่อในมนุษยนิยมอีกต่อไป แต่แล้วโลกจะไปทางไหนต่อล่ะ หรือจะเป็นลัทธิปัญญาประดิษฐ์?

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่โลกสมัยใหม่ นี่เป็นโลกที่วิทยาศาสตร์ให้คำตอบเหนือกว่าเรื่องเล่าจากพระคัมภีร์ พระเจ้านั้นถูกลืม สวนทางกับวิถีแห่งการเชิดชูมนุษย์ของศาสนามนุษยนิยม ก่อนไปปัญญาประดิษฐ์ เราควรกลับมาที่มนุษยนิยมก่อน เราสามารถนิยามคตินี้ได้อย่างง่ายดาย เช่น “จงฟังตัวคุณเอง จงซื่อสัตย์ต่อตัวเอง จงเชื่อใจในตนเอง จงทำตามหัวใจ จงทำสิ่งที่รู้สึกดี” หรือกระทั่งงานศิลปะโถปัสสาวะ ‘น้ำพุ’ ของดูชอมป์ที่ร้องตะโกนว่า “ความงามอยู่ในดวงตาของคุณเอง” แฮรารีได้แบ่งมนุษย์นิยมออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. มนุษย์นิยมแบบเสรีนิยม (Liberal Humanism) เราลองคิดถึงจริตแบบอเมริกัน หรือเรื่องของเมแกน มาร์เคิล กับราชวงศ์อังกฤษ นั่นแหล่ะ เสรีนิยม 2. มนุษย์นิยมแบบสังคมนิยม (Socialist Humanism) เป็นมนุษย์นิยมเชิงอุดมคติสำหรับมนุษย์ ปัจเจกชนต้องคิดถึงคนอื่นในสังคมด้วย ซึ่งคอมมิวนิสต์ได้รับอุดมการณ์นี้ไปแล้วทำไม่สำเร็จ 3. มนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการ (Evolutionary Humanism) เป็นมนุษย์นิยมที่มีความเชื่อในการคัดสรรเผ่าพันธุ์ที่ดีที่สุด หนึ่งในวิธีการคือการกำจัดสายเลือดที่อ่อนแอออกจากโลกใบนี้ นาซีเยอรมันของฮิตเลอร์ได้รับคตินี้ไป แต่ในที่สุดแล้วก็ถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน เมื่อคอมมิวนิสต์ของเลนินบอกว่า “คอมมิวนิสต์คือการให้อำนาจแก่สภาคนงาน และการผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ทั้งประเทศ” สิ่งที่เลนินพูดไม่ได้ทำให้เราเข้าถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่เป็นการมองว่าชีวิตมนุษย์ควรจะอิงกับเทคโนโลยีอย่างไร ซึ่งบริบทของสังคมรัสเซียในขณะนั้น การที่ผู้คนจะเข้าถึงทรัพยากรได้ ต้องใช้การรวมศูนย์เข้ามาที่ส่วนกลางผ่านทางรถไฟอันเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดขณะนั้นเสียก่อน ซึ่งตอบโจทย์กับประชาชนรัสเซียจนก่อให้เกิดการปฏิวัติในเวลาต่อมา นี่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี

ในปี 2002 วงการเบสบอลต้องจดจำทีมทุนต่ำทีมหนึ่งที่ผงาดขึ้นมาเป็นแชมป์อย่างเหนือความคาดหมาย โอ๊กแลนด์ แอธเลติกส์ ของบิลลี่ บีน ทำเรื่องที่เป็น ‘นวัตกรรม’ บีนใช้การวิเคราะห์หาตัวผู้เล่นที่ทุนต่ำแต่คุ้มค่า (Underrated) โดยระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่มีทีมไหนเคยทำมาก่อนในขณะนั้น, เทสลากับกูเกิลได้ทดลองใช้ระบบรถยนต์ไร้คนขับ, สมาร์ทวอทช์ของเราเป็นเพื่อนที่คอยจับจ้องความผิดปกติของร่างกายในชีวิตประจำวัน นี่มันชีวิตแบบไหนกัน นึกไม่ถึงเลยว่าเมื่อ 50,000 ปีก่อน เรายังคงเข้าป่าล่าสัตว์กัน อนาคตของแนวโน้มการจ้างงานถูกรวมเข้าไปในนั้น มีความน่าจะเป็นถึง 97% ที่อาชีพแคชเชียร์จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ บาร์เทนเดอร์ 77% แม้กระทั่งนักโบราณคดีก็ยังอยู่ในข่าย ช่วงเวลาต่อไปของมนุษย์ได้กำหนด 3 สมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ดังนี้

1. สิ่งมีชีวิตเป็นอัลกอริทึม และมนุษย์มิใช่ปัจเจกผู้แบ่งแยกมิได้ พวกเขา ‘แบ่งแยกได้’ กล่าวคือ มนุษย์เป็นส่วนประกอบของอัลกอริทึมที่แตกต่างกันมากมาย โดยไม่ได้มีเสียงภายในเพียงหนึ่งเดียว

2. อัลกอริทึมที่ประกอบกันขึ้นเป็นมนุษย์นั้นไม่ได้มีเสรี มันก่อตัวขึ้นจากพันธุกรรมและแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อม มันตัดสินใจด้วยการกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้วหรือโดยการสุ่ม แต่ไม่ได้กระทำโดยเสรี

3. ผลที่ตามมาคือในทางทฤษฎีแล้ว อัลกอริทึมภายนอกสามารถรู้จักคุณดีกว่าที่ตัวคุณเองเคยรู้จักตัวเอง อัลกอริทึมที่คอยเฝ้าดูแต่ละระบบที่ประกอบกันเป็นร่างกายและสมองของคุณสามารถรู้อย่างแน่ชัดว่าคุณเป็นใคร รู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร ทันทีที่พัฒนาขึ้นอัลกอริทึมดังกล่าวนี้สามารถแทนที่ผู้ออกเสียง ลูกค้า และผู้ชมได้ เมื่อนั้นอัลกอริทึมจึงรู้ดีที่สุด อัลกอริทึมจะถูกเสมอ และความงามจะอยู่ภายใต้การคำนวณของอัลกอริทึม (หน้า 423–424)

เมื่อข้อมูลทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกัน นั่นก็หมายความว่าคุณได้สูญเสียความเป็นส่วนตัวไป ระบบการรักษาที่จะคอยเตือนถึงโรคร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นผ่านการคำนวณข้อมูลส่วนตัวอันมหาศาลของเราทุกคน หรือเฟสบุ๊คที่คอยจับสังเกตุพฤติกรรมของเราจนมีของกินที่อยากกินขึ้นเต็มหน้าฟีดไปหมด นี่คือการพังทลายของมนุษย์นิยมหรือ?

เทคโนโลยีในโลกข้างหน้าของเราจะเต็มไปด้วยการเชื่อมต่อกันของข้อมูล แฮรารีได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. มนุษยนิยมแบบเทคโนโลยี (Techno — Humanism) กับ 2. ศาสนาข้อมูล (Data Religion) อธิบายแบบง่ายๆเลยมนุษยนิยมแบบเทคโนโลยีถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้มนุษย์เป็นหลัก หากคุณมีปัญหาเรื่องอวัยวะบนร่างกายที่ใช้การไม่ได้ สิ่งนั้นจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ก็ใส่ของเทียมที่เป็นจักรกลเข้าไปซิ ส่วนศาสนาข้อมูลไปไกลกว่านั้น มันไม่ได้รับใช้มนุษย์ แต่มันรับใช้ข้อมูล เราล้วนตกอยู่ท่ามกลางกระแสของข้อมูลอันไหลบ่า ทุกวันนี้เวลาวิ่งเราคงไม่ได้นับจังหวะการเต้นของหัวใจเองหรอก แต่เชื่อสมาร์ทวอทช์แบบ 100% เลยใช่มั๊ย นั่นแหล่ะ คุณกำลังเป็นศิษยานุศิษย์ของศาสนาข้อมูล (ในอนาคตกระแสของข้อมูลจะไหลไปในทุกเรื่องของชีวิตเรา แม้แต่การเลือกคู่!) ในที่สุดแล้วเราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร แต่เราถูกข้อมูล (และบริษัทเอกชน) กลืนกินจนหมดสิ้น เรายอมแลกความสะดวกสบายกับการสละพื้นที่ส่วนตัวของเราไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อคุณค่าในชีวิตของเราขึ้นอยู่กับการปกครองของข้อมูล ก็ถึงเวลาที่โฮโมเซเปียนส์ต้องสูญพันธุ์

--

--

chalothon chanya

สวัสดีครับ เป็นบล็อกสำหรับเขียนรีวิวเรื่องต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือว่าเรื่องราวชีวิตที่พบเจอมา ขอบคุณทุกการอ่านและการติดตามครับ