Finding George Orwell in Burma — จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ : ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา

--

Finding George Orwell in Burma

จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ : ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา

ผู้เขียน : Emma Larkin

ผู้แปล : สุภัตรา ภูมิประภาส

จอร์จ ออร์เวลล์ เป็นใคร? หากเราไม่ใช่หนอนหนังสือตัวยง เราก็คงได้ยินชื่อนวนิยายของเขาผ่านการแนะนำของลุงตู่!! เรื่องนั้นคือ ‘Animal Farm’ งานนวนิยายขนาดสั้นที่เสียดสีเรื่องราวของอำนาจที่ผันเปลี่ยนและไร้ซึ่งอุดมการณ์ของผู้ใช้อยู่ตลอดเวลา การแนะนำในครั้งนั้นเป็นที่ฮือฮากันในแวดวงคนอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก เพราะถือเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเอาซะเลยที่คนแนะนำหนังสือดันเป็นลุงตู่ ฮา อย่างไรก็ตาม ก็มีบรรยากาศของการพูดคุยถกเถียงถึงนวนิยายเรื่อง Animal Farm ตามมา ทั้งงานเขียนเล่มอื่นๆของนักเขียนคนนี้ก็มีผู้คนกลับมาสนใจเป็นวงกว้างอีกครั้ง และนักเขียนคนนั้นคือ จอร์จ ออร์เวลล์

จอร์จ ออร์เวลล์ หรือชื่อจริงว่า เอริค อาเธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) เป็นนักเขียนชาวอังกฤษที่เขียนนวนิยายชื่อดังหลายเรื่อง อาทิ Burmese Day (1934), Animal Farm (1945) และ Nineteen Eighty-Four (1949) แต่ละเรื่องของเขานั้นสร้างอิทธิพลต่อแนวคิดทางการเมืองจวบจนคนรุ่นปัจจุบัน จอร์จ (ขอเรียกว่า ‘จอร์จ’) เป็นคนที่มีประสบการณ์ในหลากหลายประเทศ ทั้งกับคนจรในฝรั่งเศส กับกองกำลังปลดแอกแคว้นคาตาลันในสเปน รวมทั้งการเป็นตำรวจในพม่าซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประสบการณ์เหล่านี้ล้วนเพาะบ่มตัวของจอร์จเองนั้นให้มีวิธีคิด วิธีเขียนที่สื่อสารกับผู้คนได้เป็นวงกว้าง และที่สำคัญ ‘ง่าย’ มากอีกด้วย

ในที่นี้จะเป็นการเน้นไปที่ประสบการณ์ของจอร์จในพม่า โดยนักเขียน/นักข่าวชาวอเมริกัน เอ็มม่า ลาร์กิน (Emma Larkin) ที่ตัดสินใจเดินตามรอยของจอร์จแบบเมืองต่อเมืองเพื่อค้นหาร่องรอยวิถีชีวิต รวมถึงวิธีคิดของจอร์จที่ประกอบสร้างหรือก่อนจะประกอบสร้างมาเป็นจอร์จในปัจจุบันว่าน่าจะมีที่มาที่ไปอย่างไร สำหรับตัวเอ็มม่านั้น เธอมีความสนใจในประเทศพม่าเป็นทุนเดิม เธอเริ่มเรียนภาษาพม่าในโรงเรียน School of Oriental and African Studies ในลอนดอน จากนั้นเธอทำวิจัย และศึกษาประเทศพม่าแบบภาคสนามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี เธอมีผลงานอื่นหลังจากหนังสือเล่มนี้อีกคือ Everything is Broken : The Untold Story of Disaster Under Burma’s Military Regime (2010) และ No Bad News for the King : The True Story of Cyclone Nargis and Its Aftermath in Burma (2011) ซึ่งก็ยังอยู่กับเรื่องของพม่าเหมือนเดิม ว่าแล้วการตามรอยนักเขียนนี่มันไปเกี่ยวข้องกับตัวประเทศอะไรกันขนาดนั้น?

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะว่าในหนังสือเล่มนี้ ด้วยตัวเค้าโครงก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องระหว่างนักเขียนกับแฟนตัวยงเท่านั้น แต่หากมองดีๆตัวเค้าโครงที่กล่าวถึงก็เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงให้เราผู้อ่านไปเห็นสภาพของประเทศพม่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นดินแดนที่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร เอ็มม่าพาเราเดินกินลมด้วยสายตาของนักท่องเที่ยว ไปตามสถานที่สำคัญขนาดใหญ่ทางประวัติศาสตร์ หรือร้านน้ำชาขนาดเล็กตามข้างทาง ซึ่งด้วยความเก่งกาจในการเสาะหาข้อมูลอยากรู้อยากเห็นภายใต้แว่นตาทางมนุษยชนของเธอ ก็ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวความยากลำบากต่างๆที่ประชาชนชาวพม่าต้องพบเจอซึ่งแต่ละคนก็มีบาดแผลจากการปกครองนี้มากน้อยแตกต่างกันไป

กลับมาที่โครงเรื่องที่เป็นการเจาะลึกเข้าไปในการประกอบสร้างตัวตนของจอร์จเอง โดยมีแผนที่แต่ละเมืองที่เอ็มม่าไปสำรวจตรวจสอบ ได้แก่ มัณฑะเลย์, ปากแม่น้ำ (อิรวดี), ร่างกุ้ง, เมาะละแหม่ง และกะต่า เมืองเหล่านี้เป็นเมืองที่จอร์จเคยมาประจำการตอนเป็นตำรวจทั้งสิ้น ในการสำรวจของเอ็มม่านั้นเราก็จะได้สัมผัสวิธีคิด กรอบการปฏิบัติ บรรยากาศร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสิ่งที่น่าจะเป็นบาดแผลอันสำคัญซึ่งทำให้จอร์จเขียนนวนิยายที่โด่งดังและกลายมาเป็นความจริงที่น่าเศร้าของพม่าในต้นสหัสวรรษนี้อย่าง Burmese Day (1934), Animal Farm (1945) และ Nineteen Eighty-Four (1949) มีชาวพม่าบอกว่านวนิยาย 3 เล่มนี้คืองานที่ทำนายอนาคตของประเทศพม่าเองได้อย่างแม่นยำ สิ่งที่น่าสนใจคือเหตุใดสิ่งที่จอร์จเขียนจึงกลายเป็นจริงขึ้นมา ดินแดนที่เขาเคยอาศัยอยู่มันฝากฝังสิ่งใดให้กับตัวตนจนชั่วชีวิต สำหรับบันทึกการเดินทางเล่มนี้ เชื่อว่าหากผู้อ่านได้ร่วมสำรวจก็อาจจะสัมผัสบรรยากาศเหล่านั้นได้ไม่มากก็น้อย

สำหรับงานแปลไทยโดยคุณสุภัตรา ภูมิประภาส ก็ทำให้งานลักษณะกึ่งไดอารี่แกมประวัติศาสตร์เล่มนี้เป็นงานที่มีสำนวนที่อ่านง่าย ไม่ซับซ้อน ในขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดสำนวนอันนำเสนอความโหดร้ายและน่าเห็นอกเห็นใจของชาวพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกประมาณเกือบ 10 ปีให้หลัง ดูเหมือนประเทศพม่าจะมีการผ่อนปรนทางการเมืองโดยรัฐบาลทหารมากยิ่งขึ้น อองซาน ซูจีถูกปล่อยตัวจากการคุมขัง มีการจัดการเลือกตั้ง แต่พรรคที่หนุนหลังโดยรัฐบาลทหารเป็นฝ่ายชนะ (ซึ่งอีก 10 ปีถัดมาสถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ พรรค NLD ชนะการเลือกตั้ง) เอ็มม่ายังคงทำงานเพื่อสื่อสารเรื่องของพม่าให้ประชาคมโลกได้รับรู้ผ่านงานเขียนของเธอ ส่วนจอร์จ ออร์เวลล์ยังคงเป็นแสงนำทางของผู้รักในงานเขียนและความยุติธรรม

Finding George Orwell in Burma — จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวล

ผู้เขียน : เอ็มม่า ลาร์คิน (Emma Larkin)

ผู้แปล : สุภัตรา ภูมิประภาส

สำนักพิมพ์ : มติชน

จำนวนหน้า : 309 หน้า

พิมพ์ครั้งที่ 2 — เมษายน 2017

--

--

chalothon chanya

สวัสดีครับ เป็นบล็อกสำหรับเขียนรีวิวเรื่องต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือว่าเรื่องราวชีวิตที่พบเจอมา ขอบคุณทุกการอ่านและการติดตามครับ